ใช้โทรศัพท์มือถือแต่พอดี ห่างไกลโรค
โทรศัพท์มือถือแทบจะเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายเรา ที่ทุกคนแทบขาดใจ หากวันใดวันหนึ่ง คุณลืมโทรศัพท์มือถือที่บ้านในวันที่คุณต้องออกมาทำงาน ขณะที่เราใช้งานโทรศัพท์มือถือในแต่ละวัน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในท่านั่ง ในตอนแรก ๆ ร่างกายของเราจะยังคงสามารถนั่งตัวตรงได้ตามปกติ แต่เนื่องจากหน้าจอ โทรศัพท์มือถือนั้นค่อนข้างเล็กกว่าจอคอมพิวเตอร์ จึงทำให้เราต้องโน้มศีรษะไปด้านหน้าเพื่อเพ่งมองหน้าจอ เมื่อเล่นไปสักพักกล้ามเนื้อบริเวณบ่าที่ใช้ในการทรงท่า (stabilizer) ของคอทำงานจะเยอะกว่าปกติ ทำให้กล้ามเนื้อล้าและอ่อนแรงลง ความสามารถในการทรงท่าลดลง ศีรษะก้มไปด้านหน้าเพิ่มขึ้น ไหล่งุ้มมากขึ้น เกิดเป็นท่าคอยื่น (forward head posture) ดังภาพ
ภาพที่1 กล้ามเนื้อบริเวณบ่าที่ใช้ในการทรงท่า (stabilizer) ของคอ
ภาพที่ 2 อาการของท่าคอยื่น (forward head posture)
ท่าคอยื่นนั้นทำให้มีแรงกดต่อกระดูกคอเพิ่มขึ้นซึ่งแปรผันตามมุมองศาการก้มศีรษะ และกล้ามเนื้อหน้าอกตึงรั้ง เมื่อค้างอยู่ในท่านี้นาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อสะบักด้านหลัง (lower trapezius, middle trapezius) อ่อนแรง ไม่สามารถดึงสะบักไว้ได้ ทำให้สะบักแบะออกด้านข้างและหลังค่อม (Thoracic kyphosis) มากขึ้น ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า และสะบักตามมา
ภาพที่ 3 ท่าคอยื่นนั้นทำให้มีแรงกดต่อกระดูกคอเพิ่มขึ้นซึ่งแปรผันตามมุมองศาการก้มศีรษะ
ในการกดหรือเลื่อนหน้าจอนั้นส่วนใหญ่จะใช้นิ้วโป้งในการกด ซึ่งการกดโทรศัพท์มือถือนั้น นิ้วโป้งมักจะอยู่ในท่าที่เหยียดสุดและเคลื่อนไหวไปมาซ้ำๆ ทำให้ข้อต่ออาจเกิดการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อข้อมือและนิ้วโป้งทำงานหนัก และมักเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณโคนนิ้วโป้งหรือที่เรียกว่า โรคเดอกาแวง (De Quervain’s Syndrome)
ภาพที่ 4 การอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณโคนนิ้วโป้ง โรคเดอกาแวง
จากเหตุผลดังกล่าว การโทรศัพท์มือถือที่นานเกินไปนั้น ส่งผลร้ายต่อร่างกายของเรามากพอสมควร ดังนั้นการใช้งานจึงควรอยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป และควรมีการออกกำลังกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง และยืดกล้ามเนื้อที่หดรั้ง หากมีอาการปวดคอ ข้อมือ หรือหลัง ควรมาปรึกษากับนักกายภาพบำบัดแต่เนิ่นๆ ไม่ควรปล่อยให้อาการปวดจากระยะเฉียบพลัน กลายเป็นระยะเรื้อรังที่รักษายาก และอาจทำให้รักษาลำบาก มีค่าใช้จ่ายสูง บางรายอาจร้ายแรงถึงขั้นต้องผ่าตัด